http://library.sk.ac.th >>    Friday, 26 April 2024
หน้าแรก arrow ข่าวสาร arrow หนังสือที่น่าสนใจ arrow ด่วนพบภูเขาไฟ 'ภูเก็ต' สุดระทึกห่างแค่200กม.ที่กลางทะเลลึก

มีอะไรในห้องสมุด
ข้อมูลห้องสมุด
นโยบาย วิสัยทัศน์ พันธกิจ
ประวัติห้องสมุด
สถานที่
บริการทั่วไป
กิจกรรม
สาระน่ารู้
วันสำคัญ
สมานมิตร
รางวัลซีไรต์
นักเขียนซีไรต์
สิ่งพิมพ์ออนไลน์
e-newspaper
e-journal
e-book
กฤคภาคข่าว
ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ไทย (TIAC)
ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์(Thailis)
ทำเนีบยนิตยสารประเทศไทย
ด่วนพบภูเขาไฟ 'ภูเก็ต' สุดระทึกห่างแค่200กม.ที่กลางทะเลลึก PDF พิมพ์ ส่งเมล
     ทีมนักวิจัยไทยสำรวจพบภูเขาไฟ 4 ลูกใต้ท้องทะเลอันดามัน ห่างจากฝั่งจังหวัดภูเก็ตเพียง 200 กิโลเมตร ย้ำไม่เป็นอันตรายและไม่ก่อให้เกิดสึนามิ เชื่ออาจเป็นแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ เตรียมส่งยานอาร์โอวีลงเก็บข้อมูลนำตะกอนโคลนศึกษารายละเอียดอีกครั้งในเดือน เม.ย.ปีหน้า

          นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยการเปลี่ยนแปลงและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการศึกษาเสถียรภาพของชั้นตะกอนการเกิดแผ่นดินถล่มใต้ทะเลบริเวณขอบทวีปในทะเลอันดามัน เปิดเผยว่า ขณะนี้มีข่าวดีในวงการวิทยาศาสตร์ ว่า ในการลงไปสำรวจทะเลลึกของทีมนักวิจัยไทยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากประเทศเยอรมนี โดยได้รับงบจำนวน 1.5 ล้านบาท จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อเก็บตะกอนไหล่ทวีปมาศึกษาหาความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินถล่มใต้น้ำ หลังเหตุการณ์สึนามิเมื่อ 26 ธ.ค.47 โดยใช้เวลาสำรวจ 16 วันห่างจากภูเก็ต 300 กม. ที่ระดับความลึกประมาณ 1,000-2,800 เมตร ทีมนักสำรวจพบว่ามีโคลนภูเขาไฟใต้ทะเล (Mud Volcano) กระจายอยู่ในจุดที่ทำการสำรวจรวม 4 ลูกด้วยกัน

          นายอานนท์ กล่าวอีกว่า ภูเขาไฟใต้น้ำลูกแรกนั้นมีฐานความกว้างถึง 1 กม. สูง 100 เมตร มีลักษณะเหมือนรูปเจดีย์คว่ำสำรวจพบที่ความลึก 650 เมตร ห่างจากภูเก็ต 200 กม. ส่วนลูกที่ 2 ห่างจากจุดแรกไปทางด้านตะวันตก ที่ระดับความลึก 1,000 เมตร ส่วนลูกที่ 3 และ 4 มีฐานกว้างประมาณ 500 เมตร สูง 60-70 เมตรที่ระดับความลึก 700-800 เมตร ซึ่งการค้นพบครั้งนี้ค่อนข้างเป็นเรื่องใหม่สำหรับเมืองไทย 

          อย่างไรก็ตาม ทีมสำรวจค่อนข้างมั่นใจว่าเป็นภูเขาไฟใต้น้ำ เพราะว่าใช้วิธีตรวจสอบด้วยเครื่องมือหยั่งน้ำแบบหลายความถี่ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่จะสร้างความสั่นสะเทือนและสะท้อนคลื่นว่าลักษณะพื้นท้องน้ำได้สะท้อนคลื่นกลับมาได้ไม่ดี เนื่องจากเป็นตะกอนโคลนที่มีความนิ่ม และคลื่นจะสะท้อนไม่แรงมากนัก จึงไม่ใช่แค่กองโขดหินธรรมดา ขณะที่ก่อนหน้านี้เคยมีรายงานว่า พบภูเขาไฟใต้ทะเลในแถบทะเลอันดามันของประเทศอื่นๆ รวมทั้งหลักฐานว่าหลังเหตุการณ์สึนามิ มีรายงานชัดเจนว่าโคลนภูเขาไฟที่อยู่บนเกาะอันดามันของอินเดียมีการแอ็กทีฟมากขึ้น

          จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า Mud Volcano ที่เจอใต้ทะเลอันดามันของไทยน่าจะมีลักษณะใกล้เคียงกับโคลนภูเขาไฟใต้ทะเลของอ่าวเม็กซิโก ซึ่งแหล่งความร้อนที่เกิดขึ้นนั้นอาจเกิดจากตะกอนถูกบีบอัดโดยการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก แต่ไม่ได้หมายความมีรอยแยกของเปลือกโลกในบริเวณนั้น ที่สำคัญไม่ควรตื่นตระหนกกับสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบ โดยเฉพาะข้อกังวลที่ว่าอาจเป็นภูเขาไฟที่จะปะทุในอนาคต และเป็นสาเหตุของคลื่นสึนามิ เพราะยังมองไม่เห็นความสัมพันธ์ในลักษณะดังกล่าว แต่ถ้ามองในแง่ดีค่อนข้างมั่นใจว่าบริเวณนั้นเป็นแหล่งที่มีศักยภาพของแอ่งน้ำมันเหมือนกับอ่าวเม็กซิโกก็ได้ นายอานนท์ กล่าว 

          นายอานนท์ กล่าวอีกว่า หลังจากได้วิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ แล้ว จะต้องสำรวจข้อมูลเชิงลึกของ Mud Volcano โดยจะต้องใช้ยานไร้คนขับ หรืออาร์โอวีลงไปเก็บข้อมูล เพื่อนำตะกอนโคลนมาศึกษารายละเอียดให้ชัดเจน รวมทั้งดูแหล่งความร้อน หรือศักยภาพของการเป็นแหล่งน้ำมัน และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในบริเวณดังกล่าว โดยคาดว่าน่าจะเริ่มสำรวจในช่วงเดือน เม.ย.50


แหล่งที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2549


< ก่อนหน้า   ถัดไป >
Copyright © 2006 by Suankularb Wittayalai School Library, All right reserved.
เว็บไซต์นี้ควรชมด้วยโปรแกรม Internet Explorer 5.5 ขึ้นไป และชมด้วยหน้าจอคอมพิวเตอร์ขนาด 1024x768 มากที่สุด
อาคารศาลาพระเสด็จ 88 ถนนตรีเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทร. 02-222-6701, 02-222-4196 ต่อ 401
Top!