วันสุนทรภู่หมายถึง วันคล้ายวันเกิดของพระสุนทรโวหาร (สุนทรภู่) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวัง ซึ่งมีผลงานด้านบทกลอนที่มีคุณค่าแก่แผ่นดินเป็นจำนวนมาก องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ซึ่งเป็นผู้ที่มีหน้าที่ส่งเสริมและเผยแพร่ผลงานด้านวัฒนธรรมของประเทศสมาชิกต่าง ๆ ทั่วโลก ด้วยการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ บุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลกในวาระครบรอบ 100 ปีขึ้นไป ประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1. เพื่อเผยแพร่เกียรติคุณและผลงานของผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒธรรมระดับโลกให้ปรากฏแก่มวลชนและสมาชิกทั่วโลก 2. เพื่อเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองร่วมกับประเทศที่มีผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ สุทรภู่กวีสำคัญสมัยต้นรัตนโกสินทร์ บิดาเป็นชาวบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ส่วนมารดาสันนิษฐานว่าเป็นข้าหลวงอยู่ในพระราชวังหลัง บิดามารดาได้เลิกร้างกันตั้งแต่สุนทรภู่เกิด ในปฐมวัยสุทรภู่ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระราชวังหลังและได้อาศัยอยู่กับมารดา สุทรภู่ได้รับการศึกษาในพระราชวังหลังและที่วัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) ตั้งแต่เยาว์วัยสุนทรภู่มีนิสัยรักการแต่งกลอนยิ่งกว่างานอื่น ครั้นรุ่นหนุ่มก็ไปเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่วัดศรีสุดารามในคลองบางกอกน้อย ได้แต่งกลอนสุภาษิตและกลอนนิทานขึ้นไว้ เมื่ออายุราว 20 ปี ในระยะนี้ได้ลอบรักกับหญิงสาวชาววังชื่อ “จันทร์” ทำให้ต้องเวรจำทั้งชายหญิง เมื่อกรมพระราชวังหลังทิวงคตจึงพ้นโทษ ต่อมาจึงได้แม่จันทร์เป็นภรรยา แต่อยู่ด้วยกันไม่นานเกิดระหองระแหงด้วยสาเหตุเพราะสุนทรภู่เมาสุราเป็นนิตย์ สมัยรัชกาลที่ 2 สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการ ในกรมพระอาลักษณ์ และเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จนได้รับแต่งตั้งให้เป็น ขุนสุนทรโวหาร เป็นกวีที่ปรึกษาและคอยรับใช้ใกล้ชิด ช่วงนี้สุนทรภู่ได้หญิงชาวบางกอกน้อยที่ชื่อ นิ่ม เป็นภริยาอีกคนหนึ่ง ต่อมาในราว พ.ศ.2364 สุนทรภู่ต้องติดคุก เพราะเมาสุราอาละวาดและทำร้ายท่านผู้ใหญ่ แต่ติดอยู่ไม่นานก็พ้นโทษเพราะความสามารถในทางกลอน เป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมัยรัชกาลที่ 3 สุนทรภู่ถูกกล่าวหาด้วยเรื่องเสพสุรา และเรื่อง อื่น ๆ จึงถูกถอดออกจากตำแหน่งขุนสุนทรโวหาร ต่อมาก็ออกบวชที่วัดบูรณะ (วัดเลียบ) และเดินทางไปจำพรรษาตามวัดต่าง ๆ และได้รับการอุปการะจากพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ จนพระองค์ประชวรสิ้นพระชนม์ สุนทรภู่จึงลาสิกขาบท รวมอายุพรรษาที่บวชได้ประมาณ 10 พรรษา สุนทรภู่ตกระกำลำบากจึงได้บวชอีกครั้งหนึ่ง แต่อยู่ได้เพียง 2 พรรษาก็ลาสิกขาบท และถวายตัวอยู่กับเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรร ณ พระราชวังเดิม รวมทั้งได้อุปการะจากกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพอีกด้วย เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ครองราชย์ทรง สถาปนาเจ้าฟ้า กรมขุนอิศเรศรังสรรค์เป็นพระบามสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่วังหน้า (พระบวรราชวัง) สุนทรภู่จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระสุนทรโวหาร ตำแหน่งจากกรมพระอาลักษณ์ฝ่ายบวรราชวัง ในปี พ.ศ.2394 และรับราชการต่อมาได้อีก 4 ปี ก็ถึงแก่มรณกรรมในปี พ.ศ.2398 รวมอายุได้ 70 ปี
ผลงานของสุนทรภู่สามารถแบ่งเป็น 3 ประเภท หนังสือบทกลอนของสุทรภู่ที่ปรากฏเรื่องและต้นฉบับอยู่ใน ปัจจุบันนี้ คือ 1. ประเภทนิราศ - นิราศเมืองแกลง - นิราศพระบาท - นิราศเมืองสุพรรณ (แต่งเป็นโคลง) - นิราศวัดเจ้าฟ้า - นิราศอิเหนา - นิราศพระประธม - นิราศเมืองเพชร 2. ประเภทนิทาน - เรื่องโคบุตร - เรื่องพระอภัยมณี - เรื่องพระไชยสุริยา - เรื่องลักษณวงศ์ - เรื่องสิงหไกรภพ 3. ประเภทสุภาษิต - สวัสดิรักษา - เพลงยาวถวายโอวาท - สุภาษิตสอนหญิง 4. ประเภทบทละคร - เรื่องอภัยณุราช 5. ประเภทสุภาษิต - เรื่องขุนช้างขุนแผน - เรื่องราชพงศาวดาร6. 6. ประเภทบทเห่กล่อม - เห่จับระบำ - เห่เรื่องพระอภัยมณี - เห่เรื่องโคบุตร
ที่มา : อุดม เชยกีวงศ์. ประเพณี 12 เดือน. ภูมิปัญญา, 2547. แหล่งข้อมูลอื่น |
|