http://library.sk.ac.th >>    Friday, 26 April 2024
หน้าแรก arrow วัดราชบูรณะ

วัดราชบูรณะราชวรวิหาร PDF พิมพ์ ส่งเมล

วัดราชบูรณะ

     วัดราชบูรณะเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร เดิมชื่อวัดเลียบตั้งอยู่ที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฝั่งพระนคร ระหว่างถนนจักรเพชรและตรีเพชร ในท้องที่ แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ประวัติความเป็นมา

     วัดราชบุรณะเป็นวัดโบราณซึ่งสร้างมาก่อนสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ เคยเป็นวัดที่มีพระราชาคณะประจำสมัยกรุงธนบุรี ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชปราบดาภิเษกขึ้นครองกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว สมเด็จพระเจ้าหลานเอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์  ทรงพระราชศรัทธาบูรณะปฏิสังขรณ์ทั้งพระอาราม ทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต สถาปนาเป็นพระอารามหลวงได้รับพระราชทานนามว่า “วัดราชบุรณะราชวรวิหาร”ตามนามวัดราชบุรณะซึ่งเป็นวัดคู่เมืองราชธานีตลอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และได้รับพระบรมราชูปถัมภ์ในการบูรณปฏิสังขรณ์เมื่อประมาณ พ.ศ. 2336 ขณะนั้นวัดราชบุรณะพื้นที่กว้าง ประมาณ 35 ไร่ คือรวมพื้นที่ของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยและโรงเรียนเพาะช่างในปัจจุบันทั้งหมด โดยบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของเสนาสนะ ส่วนพระอุโบสถและพระวิหารซึ่งเป็นเขตพุทธาวาสอยู่ทางทิศเหนือ นอกจากพระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ หอไตร และกุฏิเสนาสนะแล้ว สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ได้ทรงสร้างหนังสือพระธรรมใบลานและตู้พระธรรมไว้ในวัดด้วย ตู้พระธรรมลายรดน้ำตู้หนึ่งมีจารึกไว้ว่า “สมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ ทรงสร้างเมื่อพระพุทธศักราช 2337”

     ส่วนที่พระอุโบสถจารึกการสร้างที่ขื่อเช็ดหน้าประตูไว้ว่า “พระอุโบสถนี้เป็นของสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ ทรงสร้างเมื่อพุทธศักราชล่วงมาแล้ว 2341 พรรษา ปีมะเมีย สัมฤทธิศก”  ที่หน้ากรอบเช็ดพระอุโบสถจารึกไว้ว่า “พระอุโบสถนี้เป็นของสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ ทรงสร้างเมื่อพุทธศักราชล่วงมาแล้ว 2344 พรรษา ปีระกา ตรีศก”
 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดให้ถอนสีมาเก่าแล้วสร้างพระอุโบสถและพระวิหารขึ้นใหม่ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นำมาจากหัวเมือง รวม 162 องค์ พระอุโบสถเป็นอาคารขนาด 7 ห้อง ฐานกว้าง 6 วา 2 ศอก ยาว 19 วา หลังคาลด 3 ชั้น มีมุขหน้า-หลังหันหน้าทางทิศใต้ พระวิหารอยู่ทางตะวันออกของพระอุโบสถ เป็นอาคารขนาด 7 ห้อง ฐานกว้าง 6 วา 2 ศอก ยาว 19 วา  และหันหน้าไปทางทิศใต้เช่นเดียวกับพระอุโบสถ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปและพระอสีติมหาสาวก 80 องค์

       ต่อมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ขุดคูรอบพระอาราม 3 ด้าน ปากคูจดคลองโอ่งอ่างซึ่งเป็นคูพระนคร ทรงสร้างพระปรางค์ขึ้นองค์หนึ่ง  ฐานกว้างด้านละ 15 วา สูงจากฐานถึงยอดฉัตร 16 วา 2 ศอก ประดับกระเบื้องเคลือบทั้งองค์
 วัดราชบูรณะได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นการบูรณะทั่วอาราม โดยบูรณะครั้งละ 2-3 สิ่งตลอดรัชกาล เมื่อปี พ.ศ.2437 เกิดเพลิงไหม้ใกล้วังบูรพาและลุกลามมาถึงวัด ไม้กุฏิสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (แสง) เจ้าอาวาส พระบาทสมเด็จพระจุลเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และพระพระบรมวงศ์อีกหลายพระองค์ได้ทรงสร้างกุฏิเสนาสนะพระราชทานใหม่
 
      การบูรณะครั้งสำคัญอีกครั้งเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2444 เป็นต้นไป เนื่องจากมีการตัดถนนตรีเพชรผ่านกลางวัด จึงโปรดให้ทำรั้วกำแพงกั้นเขตตั้งแต่ปากคูวัดทิศใต้หน้าวัดตอนริมถนนจักรเพชรและทิศตะวันตกริมถนนตรีเพชร  จนจรดคลองคูทิศเหนือด้านหลังวัด กับได้รื้อย้ายกุฏิทางตะวันตกของถนนตรีเพชร มาปลุกใหม่เป็นหมู่ในเขตวัด พื้นที่ริมถนนตรีเพชรฟากตะวันตกนั้น โปรดให้สร้างห้องแถวสำหรับประชาชนเช่าอยู่ด้วย เพื่อเก็บผลประโยชน์บำรุงวัด ส่วนพื้นที่หลังห้องแถวโปรดให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

        หลังจากนั้นได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดอีกหลายครั้งนับแต่รัชกาลที่ 6 และ 7 จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2488 ซึ่งอยู่ในระหว่างการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 วัดราชบูรณะถูกระเบิดทางอากาศทำให้พระอุโบสถ พระวิหารและกุฏิเสนาสนะเสียหายมาก คณะสังฆมนตรีและคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นมีมติว่าสมควรยุบวัดลงเสีย จึงนำความกราบบังคมทูลและได้ยุบเลิกตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการในวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2488 เมื่อถูกยุบทางวัดได้อนุญาตให้วัดต่างๆ ในหัวเมืองอัญเชิญพระพุทธรุปไปประดิษฐานยังวัดของตนได้ตามประสงค์ หลังจากที่สงครามสงบลง ผู้มีจิตศรัทธาหลายฝ่ายเห็นว่า สมควรบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชบูรณะให้กลับมีสภาพเป็นวัดอีกครั้งหนึ่ง จึงมอบให้นายควง อภัยวงศ์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครขณะนั้น นำความขึ้นกราบบังคมทูล เพื่อขอพระบรมราชานุญาตตั้งวัดบูรณะขึ้นใหม่ ซึ่งได้รับพระบรมราชานุญาต และกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศลงวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2491 ยกเลิกประกาศ พ.ศ. 2488 ต่อมามีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินงานประกอบด้วยกรรมการฝ่ายฆราวาส 16 คนและฝ่ายสงฆ์ 3 รูป คณะกรรมการได้ดำเนินการหาทุน และเริ่มบูรณะปฏิสังขรณ์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2493 เป็นต้นมา
        การบูรณะเริ่มด้วยการก่อสร้างกุฏิเสนาสนะและเจ้าอาวาสก่อน โดยสร้างเป็นอาคารไม้ครึ่งชั้นบ้าง 3 ชั้นบ้างและสร้างเป็นตึก 2 ชั้นบ้าง 3 ชั้นบ้าง เพื่อความมั่นคงถาวร  เมื่อกุฏิสำหรับสำนักสงฆ์เพียงพอแล้ว คณะกรรมการจึงเริ่มก่อสร้างพระอุโบสถ เพื่อเป็นที่ประกอบสังฆกรรมในปี พ.ศ. 2496 โดยอัญเชิญพระพุฒาจารย์ วัดอนงคาราม ซึ่งดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีว่าการองค์การสาธารณูปการในสมัยนั้น เป็นประธานประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน หลังจากที่การก่อสร้างส่วนใหญ่แล้วเสร็จ นายควง อภัยวงศ์ ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานอัญเชิญเสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพิธียกช่อฟ้าพระอุโบสถและเททองหล่อพระประธาน เมื่อวันวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2503 โดยผู้ออกแบพระอุโบสถคือ ศาสตราจารย์ หลวงวิศาลศิลปกรรม (เชื้อ ปัทมจินดา) เรือนแก้วซุ้มประธานภายในเป็นฝีมือของ นายฟู  อนันตวงศ์ ส่วนพระปรางค์นั้นไม่ได้รับภัยจากการระเบิด แต่ชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา โดยกระทรวงมหาดไทยได้บูรณะในปี พ.ศ. 2505
 วัดราชบุรณะได้มีการสอนพระปริยัติธรรมเช่นเดียวกับพระอารามอื่น ส่วนโรงเรียนสอนภาษาไทยนั้น เคยมีการจัดตั้งในสมัยรัชการที่ 5 ต่อมาเมื่อโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยย้ายมาตั้งในพื้นที่ส่วนหนึ่งของวัด โรงเรียนภาษาไทยจึงรวมกับโรงเรียนสวนกุหลาบทั้งหมด
 
ความสำคัญ
 
        นอกจากความสำคัญในเชิงประวัติแล้ว วัดราชบูรณะยังเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช สมัยรัตนโกสินทร์ถึง 2 องค์คือ  สมเด็จพระสังฆราช (มี) ในรัชกาลที่ 2  และสมเด็จพระสังฆราช (นาค) ในรัชกาลที่ 3 อีกประการหนึ่งพระภิกษุ 2 องค์ในวัดราชบูรณะซึ่งสร้างชื่อเสียงให้แก่วัดมาก คือ สมเด็จพระศรีสมโพธิราชครู (ขรัวอีโต้) และขรัวอินโข่ง

       สมเด็จพระศรีสมโพธิราชครู หรือ ขรัวอีโต้ มีชีวิตอยู่ในรัชกาลที่ 1-2 กล่าวกันว่าท่านบวชเป็นภิกษุตั้งแต่สมัยอยุธยา เมื่ออยุธยาเสียกรุงแก่พม่า ท่านและครอบครัวถูกกวาดต้อนไปกับพม่าด้วย ต่อมาเมื่อบิดามารดาถึงแก่กรรม ท่านจึงหลบหนีกลับไทยพร้อมกับน้องสาว 1 คน  ระหว่างเดินทางรอนแรมด้วยกันนั้น เมื่อถึงเวลานอนท่านจะใช้มีดใต้วางไว้ตรงกลางระหว่างท่านและน้องสาว เมื่อท่านเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ก็ได้เข้ามาพำนักอยู่ในวัดราชบูรณะ  แต่มีผู้โจษขานกันว่าท่านมีศีลไม่บริสุทธิ์เพราะอยู่ร่วมกับสตรีมาเป็นเวลานาน ท่านจึงอธิฐานเสี่ยงความบริสุทธิ์โดยลอยมีดโต้ไว้ในสระกลางวัด ปรากฏว่ามีดโต้ลอยน้ำได้อย่างน่าอัศจรรย์ นับแต่นั้นท่านก็ได้รับการศรัทธาเลื่อมใสจากมหาชนตลอดจนเจ้านายทั้งหลาย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงพระราชทานสมณศักดิ์ว่า “สมเด็จพระศรีสมโพธิราชครู” ในรัชกาลที่ 2  สมเด็จพระศรีสมโพธิ์ราชครู ได้สร้างสระพิมพ์ขนาดเล็กขึ้น เรียกว่า “พระพิมพ์ขรัวอีโต้ลอยน้ำ”และท่านได้สร้างเจดีย์องค์หนึ่งบรรจุพระในพ.ศ. 2367 พร้อมกับจารึกลงบนแผ่นบรรจุทองไว้ด้วย
        ขรัวอินโข่ง เป็น พระภิกษุที่มีชีวิตอยู่ในรัชกาลที่ 3-4 มีชื่อเสียงยกย่องกันในฐานะจิตรกรเอกในพระราชสำนักผู้หนึ่ง แม้ว่าเป็นจิตรกรเอกที่มีผลงานทั้งในพระนครและหัวเมือง แต่ก็ไม่ปรากฏประวัติละเอียดหรือวันเดือนปีที่มรณภาพ ขรัวอินโข่งเป็นจิตรกรไทยท่านแรกที่นำเทคนิคบางประการของภาพเขียนแบบยุโรป มาผสมผสานกับลักษณะเดิมของไทย คือกรให้แสงและเงาภาพทำให้เกิดภาพแบบสามมิติและทัศนวิสัยแบบใหม่ นอกจากนี้ลักษณะเส้นกรอบนอกและรายละเอียดอันประณีต ยังช่วยให้ภาพจิตรกรของท่านงดงามน่าประทับใจยิ่งขึ้น ผลงานของท่านที่ปรากฏในปัจจุบันคือ ภาพลายรดน้ำที่หอไตร วัดชนะสงคราม (วัดตึก)  ภาพจิตรกรรมฝาผนังในหอพระคันธารราษฎร์ หอพระราชกรมานุสรณ์และหอพระราชพงศานุสรณ์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนที่วัดราชบูรณะนี้ขรัวอินโข่งเขียนภาพจิตรกรรมไว้ที่ผนังพระอุโบสถหลังเดิมซึ่งถูกระเบิดทำลายเมื่อพ.ศ. 2488 นั้นเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ไม่มีผลงานหลงเหลือในวัดที่ท่านจำพรรษา

สิ่งสำคัญภายในวัด
 
         1.  พระอุโบสถ เป็นอาคารทรงไทยจตุรมุขก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้องเคลือบสี หลังคาเป็นมุขลด 2 ชั้น และมีมุขหน้ายื่นออกมาทุกด้าน ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ภายในเป็นที่ประดาฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย เบื้องหลังเป็นซุ้มวิมานลงรักปิดทอง พระพุทธรูปประดิษฐานบนฐานชุกชี  ซึ่งอยู่บนฐานไพทีอีกชั้นหนึ่ง เบื้องหน้าพระพุทธรูปประธาน  เป็นพระอัครสาวกประทับยืนอยู่ทางซ้ายและขวา 2 องค์ ถัดมาเป็นโต๊ะหมู่บูชา ฝาผนังภายในพระอุโบสถยังคงว่าเปล่า ไม่ได้มีการตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนัง
        2. รอบพระอุโบสถด้านนอก เป็นที่ประดิษฐานซุ้มสีมา ซึ่งเป็นซุ้มก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทอง ประดับกระจก หลังคาเป็นยอดเจดีย์ ภายในเป็นซุ้มใบสีมาทำด้วยศิลาสลัก
        3. พระปรางค์  เป็นสิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในวัดราชบูรณะ พระปรางค์นี้นับเป็นโบราณสถานที่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ยังหลงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน พระปรางค์มีขนาดใหญ่พอสมควร ยกพื้นสูง ทำเป็นกำแพงล้อมรอบพระปรางค์ ซึ่งเป็นพระปรางค์ย่อมุมไม้ 28 มีฐานบัวซ้อนขึ้นไป 5 ชั้น แต่ละชั้นทำเป็นรูปมารแบกโดยรอบ ชั้นซุ้มค่อนข้างสูง เหนือชั้นซุ้มขึ้นไปเป็นชั้นมารแบกอีกชั้นหนึ่ง ต่อไปเป็นชั้นกลีบขนุน 8 ชั้น ยอดพระปรางค์เป็นนภศูล มีมงกุฎครอบบนนภศูลอีกทีหนึ่ง 

           กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดราชบูรณะเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ. 2492

แหล่งที่มาข้อมูล 

      คณะกรรมการจัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี.  (2525).    ศิลปวัฒนธรรมไทย เล่มที่ 4 วัดสำคัญ กรุงรัตนโกสินทร์.  กรุงเทพฯ: ยูไนเต็ดโปรดักชั่น.

Copyright © 2006 by Suankularb Wittayalai School Library, All right reserved.
เว็บไซต์นี้ควรชมด้วยโปรแกรม Internet Explorer 5.5 ขึ้นไป และชมด้วยหน้าจอคอมพิวเตอร์ขนาด 1024x768 มากที่สุด
อาคารศาลาพระเสด็จ 88 ถนนตรีเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทร. 02-222-6701, 02-222-4196 ต่อ 401
Top!